top of page

 

 

เป็นพระคุณของพระเจ้าอย่างเหลือล้นที่ผมมีโอกาสได้รู้จักกับ

 

“ท่านแม่”

- ณัฐ ยนตรรักษ์ 

OUR STORY

ท่านแม่ของผมคือพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ทรงเป็นพระธิดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย

พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ผมมีโอกาสพบท่านแม่ครั้งแรก เมื่อเป็นนิสิตสถาปัตย์จุฬาฯ ปี 2 (พ.ศ. 2516) โดยการแนะนำของเพื่อนรักผม ม.ร.ว.นิดา สุขสวัสดิ์ ซึ่งเป็นหลานของพระองค์ท่าน ผมเข้าไปเฝ้าท่านแม่ครั้งแรกในฐานะเป็นครูสอนอีเล็คโทน และท่านฯ ให้เรียก “ท่านแม่” ตั้งแต่วันแรกที่รู้จักเลย ผมยังรู้สึกปลื้มใจในความเมตตาของท่านเสมอตั้งแต่วันนั้นจวบจนทุกวันนี้

 

ตลอดระยะเวลาอีก 4 ปีที่เป็นนิสิตจุฬา ผมมีโอกาสถวายการสอนท่านแม่อย่างสม่ำเสมอ บางครั้งท่านเสด็จเมืองนอกก็งดไป บางครั้งผมส่งงานที่คณะก็งดไปบ้าง แต่ความผูกพันที่มีโอกาสพบและได้ใกล้ชิดท่านนั้นทำให้ซึมซับ ความเมตตากรุณาที่ท่านทรงมีกับทุกๆ คนรอบข้างเสมอ การถวายการสอนนั้น ระยะหลังๆ ท่านแม่โปรดให้เล่นเพลงให้ท่านฟังมากขึ้น จนในที่สุดท่านมีเครื่องบันทึกเสียงและอัดเป็นเทป cassette เพลงที่ผมเล่นไว้ 3 ม้วน ทรงโปรดแจกใครๆ ไปหลายคน ผมก็ปลื้มใจมากๆ

 

เมื่อจบการศึกษาที่จุฬาฯ ผมก็ไปเรียนดนตรีต่อที่ประเทศอังกฤษอีก 6 ปี ครั้งแรกที่ออกเดินทาง (พ.ศ. 2521) ท่านแม่เสด็จมาส่งที่ดอนเมือง ทรงประทานนาฬิกาอย่างดีให้ ท่านทรงเสด็จมาส่งที่ดอนเมืองถึง 2 ครั้ง แต่ละครั้งทรงประทานของขวัญให้ ผมเก็บของขวัญมีค่าเหล่านี้ไว้ทุกอย่าง  ช่วงเวลา 4 ปีแรกที่อังกฤษนั้น ทุกครั้งที่ท่านแม่เสด็จลอนดอน ซึ่งท่านมีตำหนักอยู่ที่ Kingston ผมได้มีโอกาสไปรับเสด็จที่สนามบินเกือบทุกครั้ง ความรู้สึกที่เฝ้ารอท่านเสด็จนั้น มันดีใจจนบอกไม่ถูก ความเหงา และความเศร้าที่จากบ้าน ต้องเรียนหนักมันหายไปหมด ผมได้ไปเฝ้าที่ตำหนักทุกๆ ครั้ง ครั้งละหลายๆ หน ได้รับประทานอาหารไทยอร่อย และยังเล่นอีเล็คโทนถวายท่านอยู่เสมอด้วย ความสุขที่ได้รับในตอนนั้นต้องเรียกว่า “สุดยอด” สำหรับนักเรียนไทยในต่างแดนจริงๆ ท่านยังพาเที่ยวด้วย ท่านทรงให้เกียรติเสมอ เมื่อมีแขกมาเยี่ยมท่าน ท่านโปรดให้นั่งโต๊ะเสวยด้วยบ่อยๆ ผมได้เรียนรู้วัฒนธรรมของ “เจ้านาย” ที่มีพระทัยเมตตา ทำให้รู้ซึ้งถึงศิลปินในสมัยก่อนๆ ซึ่งมีผู้อุปถัมภ์นั้นเป็นอย่างไร ชีวิตของผมก็ช่างโชคดีอะไรปานนั้นที่มีผู้เห็นคุณค่าของผมและอุปถัมภ์ผมด้วยความรักเช่นนี้

 

ตอนที่สอบชิงทุนศึกษาต่อปริญญาโทที่ Reading University เมื่อทราบว่าได้ทุนแล้วนั้น ท่านทรงรับสั่งว่าจะประทานเปียโน Steinway ให้เป็นของขวัญ เมื่อท่านเสด็จลอนดอนในเวลาต่อมา จึงพาไปเลือกสั่งเปียโน สมัยนั้นเมื่อจะนำมาประเทศไทยต้องทำการ tropicalized (คือใส่หมุดทุกๆชิ้นส่วนที่ติดกาวเพื่อให้แข็งแรง) เพราะมายังประเทศร้อนชื้น ต้องเพิ่มเงินอีก 10% เมื่อไปถึงร้านนั้นผมซึ่งเป็นนักเรียนก็นึกไม่ออกว่าจะชอบแบบไหน ไม่นึกไม่ฝันว่าจะมีโอกาสมีเปียโนชั้นเลิศ ราคาแพงมหาศาลนี้เลย แต่ท่านทรงรับสั่งให้เลือกตามใจชอบ ผมก็เห็นว่า model “C” (small concert grand) น่าจะกำลังพอดี แบบเคลือบด้านราคาย่อมเยาว์กว่า ก็คิดจะเอาแบบนี้ แต่ท่านรับสั่งว่าไม่สวย เอาแบบเคลือบมันดีกว่า ในที่สุดก็ได้เปียโนแบบหลัง ซึ่งต้องใช้เวลาสร้าง 9 เดือน ในระหว่างรอ เขาส่งเปียโนมาให้ใช้ก่อน เอาไว้ที่ตำหนักที่ Kingston ท่านทรงอนุญาตให้ไปซ้อมที่นั้นได้ ระยะนั้นอยู่แฟลตที่ Tulse Hill ไม่ไกลจากตำหนักนัก ไม่นานจากนั้นคุณแม่ผมเสีย เมื่อท่านทรงทราบเรื่องทรงเป็นห่วงมากและด้วยเหตุการณ์นี้ทำให้ผมรู้สึกว่าท่านเป็นเสมือน “แม่จริงๆ มากขึ้นอีก”  

 

ทรงหาแฟลตใหม่ให้อยู่ใกล้ๆ ตำหนัก และดูแลผมอีกหลายๆ อย่าง พอผมทูลท่านว่ารักกับคุณน้ำตาล ขออนุญาตให้คุณน้ำตาลตามเสด็จมาอังกฤษด้วย ท่านก็โปรดให้คุณน้ำตาลมา ช่วงนั้นผมกำลังจะเรียนจบแล้ว เป็นเวลาที่มีความสุขที่สุดก่อนที่เราจะหมั้นและแต่งงาน ตอนที่คุณน้ำตาลอยู่ที่ตำหนัก ท่านทรงทำให้พวกเรา (มีเด็กๆวัยรุ่นอีกหลายคน รวมทั้งน้องอ๋ายและขนไก่) สนุกสนานสุดๆ ท่านทรงประทานเงินให้พาคุณน้ำตาลไปเที่ยวอีกด้วย ท่านแม่ทรงให้ความสุขกับเรามากมายเสมอ ท่านยังให้ข้อคิดดีๆ เวลาเรามีปัญหา เวลาเราทำอะไรไม่ดี ไม่ถูก ท่านไม่เคยดุ ท่านจะเล่าอะไรอื่นๆเป็นอุทาหรณ์ให้ไปคิดเอาเอง ทำให้เราโตขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น

 

เมื่อผมกลับมาเมืองไทยทรงให้เปียโนส่งมาทางเรือบิน (สมัยนั้นปี 2525) เมื่อมาถึงบ้านท่านเสด็จมาตัดริบบิ้นเปิดเปียโน สนุกมาก ท่านทรงเป็นเจ้าภาพไปสู่ขอคุณน้ำตาลกับเจ้าแม่ที่เชียงใหม่ ประทานแหวนหมั้น ทรงเลือกชุดเจ้าสาวให้จากลอนดอน และทรงเป็นเจ้าภาพงานแต่งงานของเราด้วย เมื่อเราจะสร้างโรงเรียนซึ่งอยู่ในบริเวณบ้าน ท่านก็ทรงประทานเงินให้สร้างโรงเรียน เวลาผ่านไป 25 ปี เปียโนหลังแรกนั้นก็ออกลูกเป็น Grand piano อีก 9 หลัง upright piano อีก 10 หลัง หากท่านยังอยู่ท่านจะทรงปลื้มพระทัยมากๆ เพราะทุกสิ่งที่ท่านประทานมาได้เกิดดอกออกผลมากมายนัก

 

หากใครถามผมว่าพระเจ้าผู้สร้างฟ้าสวรรค์และโลกนี้ทรงดูแลมนุษย์ด้วยทูตสวรรค์ของพระองค์อย่างไร ผมก็ต้องตอบว่า “ท่านแม่” เป็น “ทูตสวรรค์” ของพระเจ้าที่เมตตาดูแลให้ผมมีชีวิตเหมือนฝัน แต่ชีวิตนี้ก็ไม่ได้มีไว้เพื่อตัวผมเอง ผมมีหน้าที่ดูแลลูกๆ และลูกศิษย์ ให้เติบโตเป็นคนที่ดีพร้อม และมีความสามารถทางดนตรีด้วย นี่คือพันธกิจในชีวิตซึ่งผมและคุณน้ำตาลได้กระทำมาตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ด้วยความสุขความชื่นชมยินดีเสมอ เราเห็นพระคุณของพระเจ้าในทุกย่างก้าวของชีวิต ยิ่งมีปัญหามากพระคุณก็ขยายมากขึ้นเสมอ

 

ดังนั้นเมื่อผมมีโอกาสที่จะบอกโลกนี้ให้รู้ว่า ผมรู้สึกกตัญญูกับ “ท่านแม่” มากเท่าใด ไม่มีอะไรที่ดีกว่าการถวายเกียรติให้พระนามของท่านคงอยู่คู่กับโรงเรียนดนตรีณัฐ ที่ท่านทรงสร้างไว้ก่อนแล้ว บัดนี้ศาลาสุทธสิริโสภาจะเป็นหอแสดงของโรงเรียน เป็นสถานที่ฟูมฟักเยาวชนดนตรีต่อไป เป็นสถานที่สร้างความสุนทรีย์ทางดนตรี

เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นสถานที่บันทึกเสียงชั้นเลิศ หากท่านยังอยู่ คงจะสนุกกับการอัดเสียงเพลงเพราะๆ ที่ท่านโปรดก็ได้ !!

 

การก่อสร้าง “ศาลาสุทธสิริโสภา” เริ่มต้นจากความรู้สึกว่าห้องใหญ่ที่เราใช้ทำ house concert นั้นเล็กเกินไป เวลามีคนมาพร้อมกัน เราจึงเริ่มซื้อที่ดินติดกับบ้านอีก 200 ตารางวาเมื่อปี 2536 เพิ่งผ่อนหมดในปี 2553 ด้วยความเมตตาของคุณยงศักดิ์ โล่โชตินันท์ ในปี 2544 เราซื้อ concert grand (9 ฟุต) ด้วยเงื่อนไขพิเศษ ผ่อนชำระไม่มีดอกเบี้ยเป็นเวลานานถึง 3 ปี !!

 

เปียโนหลังใหญ่นี้เปรียบเสมือนของขวัญล้ำค่าที่สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชฯประทานให้หลังจากที่เราได้หาเงินบูรณะ Double Grand Pleyel ของพระองค์ท่านจนสำเร็จและนำออกแสดงให้คนไทยได้ชื่นชมเป็นครั้งแรก (หลังจากเก็บมานานถึง 80 ปี) เมื่อมีที่ดินและเปียโนแล้ว เราจึงสามารถคิดสร้างอาคาร เมื่อจะสร้าง ก็ได้ขออนุญาตพี่ต้อ (ม.ร.ว. สุนิดา กิติยากร) นับเป็นสิริมงคลยิ่งที่พี่ต้อกรุณาให้ศาลาหลังนี้ได้มีชื่อพระนามเต็ม และยังเมตตาเป็นผู้อุปถัมภ์รายแรกด้วย คุณบัณฑูร ล่ำซำ ได้กรุณาให้กู้เงินธนาคารกสิกรไทยในอัตราดอกเบี้ยที่พิเศษมาก อีกทั้งคุณพรเทพ พรประภา ได้กรุณาให้ราคาที่พิเศษมากๆกับแอร์ Daikin ที่เงียบและเย็น ผมก็ขอกราบขอบพระคุณทุกท่านเป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี่ด้วย

 

การออกแบบศาลาสุทธสิริโสภานั้นผมดีใจมากที่ได้ใช้วิชาสถาปัตย์ที่ร่ำเรียนมาเสียที ผมวางแปลนตึกทั้งหมด คำนวณความยาว ความกว้างและความสูงเพื่อให้ได้เสียงที่ดีที่สุด ซึ่งก็บังเอิญมากที่เป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับคริสตจักรสืบสัมพันธวงศ์ โบสถ์ของเรา ส่วนรายละเอียดที่เขียนลงแบบจริงมีกากหมู (คุณพิทยา ทิพยประภา) เป็นผู้ช่วยลงรายละเอียดตามที่เราปรึกษากัน กากหมูช่วยแก้ปัญหาหลายๆ จุดที่ผมไม่ชำนาญ ความสวยงามทั้งหมดที่กลมกลืนกับส่วนของบ้านนั้น กากหมูมีส่วนตบแต่งให้ถูกใจเราทุกๆ คนอย่างดีเยี่ยม คุณธนินทร์วัฒน์ ยศยังเยาว์ เป็นผู้รับเหมาที่เทใจเต็มเกินร้อย ดูแลความแข็งแรงของโครงสร้าง และเป็นผู้ไปตรวจขนไม้มาจากเชียงใหม่ หาชิ้นส่วนปูนปั้นใส่หน้าบันได้อย่างวิเศษ  ผมขอขอบคุณคุณปู(ศิริลักษณ์ อัตถกาญน์นา)ที่ช่วยเนรมิตให้เรามีม่านที่สวยสะอาดได้ดั่งใจ เพราะสิ่งที่คนจะเห็นสะดุดตามากที่สุดคือ ม่าน  ส่วนภาพจำลองศาลาฯ ซึ่งออกเมื่อต้นปี 2553 นั้น สร้างขึ้นอย่างสวยงามโดยคุณปุ๊ก (สุรกิจ ฐิตะธนะกิจ) เป็นภาพแรกที่ทำให้พวกเรารอคอยของจริง ซึ่งเป็นจริงแล้ววันนี้

 

ในเรื่องระบบ acoustic นั้น ผมมีพี่สุเทพ วิจักษณ์โยธิน ผู้ซึ่งมีความรัก เมตตาต่อผมตั้งแต่สมัยเป็นนิสิต ช่วยให้ข้อแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์มากๆ อีกท่านหนึ่งคือคุณกฤษดา สาธุกิจชัย เป็นผู้ช่วยดูว่าจะป้องกันเสียงภายนอกไม่ให้เข้ามาในอาคารและจะต้องใส่วัสดุซับเสียงตรงไหนบ้างที่จำเป็น ทำให้ผมมั่นใจว่าเราจะมีห้องที่มีระบบเสียงธรรมชาติได้เป็นเยี่ยมแห่งหนึ่งของโลก เมื่อมองไปบนเวทีจะเห็นตุ๊กตา 2 ตัว เป็นเหมือนแจกันใหญ่ไว้ใส่ดอกไม้ ตุ๊กตา 2 ตัวนี้มีความหมายมากเป็นสิ่งที่คุณตุ๊ก (คุณสว่างศรี ศิวะกฤษณ์กุล) ได้มอบให้ ทุกครั้งที่เราจัดคอนเสิร์ตที่หอประชุมเล็ก และหอประชุมใหญ่ ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย คุณตุ๊กจะเป็นผู้ให้ดอกไม้ และจัดดอกไม้ให้อย่างสวยงามยิ่งตลอด 25 ปีที่ผ่านมา จนตุ๊กตา 2 ตัวนี้จะเป็นเสมือนทูตสวรรค์ตัวน้อยๆ ที่คอยให้กำลังใจแก่ผู้แสดงบนเวทีนี้ตลอดไป

 

เมื่อนึกถึง “แม่” เราจะนึกถึงผู้ให้ ให้อย่างไม่มีเงื่อนไข ให้ได้แม้เราจะไม่น่ารักในบางครั้ง ผมขอบคุณพระเจ้าที่ผมมีทูตสวรรค์ที่เป็นเหมือนแม่ดูแลชีวิตของผมมาตลอดหลายท่าน ในวันนี้ผมและคุณน้ำตาลมีโอกาสที่จะเป็นพ่อ และ แม่ ที่จะดูแลผู้คนอีกมากมายที่จะเข้ามาใน ศาลาสุทธสิริโสภา  ผมอธิษฐานขอให้แผ่นดินของพระเจ้ามาตั้งอยู่ที่นี่  ให้ทุกคนที่เข้ามาได้รับพระพรอันอุดม สมกับความรัก ความตั้งใจ ของ “ท่านแม่” “เจ้าแม่” “แม่ครู” “แม่ป้าเดีย” และคุณพ่อคุณแม่ของผมตลอดไป

 

ณัฐ ยนตรรักษ์                 

(เจ้าของและผู้ออกแบบศาลาสุทธสิริโสภา)

bottom of page